เมนู

ในข้อนั้น

พึงทราบแผ่นดินไหวด้วยเหตุ 8 ประการ คือ


1. ธาตุกำเริบ
2. อานุภาพของผู้มีฤทธิ์
3. พระโพธิสัตว์ก้าวลงสู่พระครรภ์
4. เสด็จออกจากครรภ์พระมารดา
5. บรรลุพระสัมโพธิญาณ
6. ทรงแสดงพระธรรมจักร
7. ทรงปลงอายุสังขาร
8. เสด็จดับขันธปรินิพพาน
วินิจฉัยเหตุแม้เหล่านั้น ข้าพเจ้าจักกล่าวในคราววรรณนาพระบาลี
ที่มาในมหาปรินิพพานสูตรอย่างนี้ว่า ดูก่อนอานนท์ เหตุ ปัจจัย 8
เหล่านี้แล ที่ให้เกิดแผ่นดินไหวใหญ่ ดังนี้ทีเดียว. ก็แผ่นดินใหญ่นี้
ได้ไหวในฐานะ 8 แม้อื่น คือ
1. คราวเสด็จมหาภิเนษกรมณ์
2. คราวเสด็จเข้าสู่โพธิมัณฑสถาน
3. คราวรับผ้าบังสุกุล
4. คราวซักผ้าบังสุกุล
5. คราวแสดงกาลามสูตร
6. คราวแสดงโคตมกสูตร
7. คราวแสดงเวสสันดรชาดก
8. คราวแสดงพรหมชาลสูตรนี้
ใน 8 คราวนั้น คราวเสด็จมหาภิเนษกรมณ์ และคราวเสด็จเข้า

สู่โพธิมัณฑสถาน แผ่นดินได้ไหวด้วยกำลังแห่งพระวิริยะ คราวรับผ้า
บังสุกุล แผ่นดินถูกกำลังความอัศจรรย์กระทบแล้วว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า
ทรงละมหาทวีป 4 อันมีทวีปสองพันเป็นบริวาร ออกผนวชไปสู่ป่าช้า
ถือเอาผ้าบังสุกุล ได้ทรงกระทำกรรมที่ทำได้ยาก ดังนี้ ได้ไหวแล้ว
คราวซักผ้าบังสุกุล และคราวแสดงเวสสันดรชาดก แผ่นดินได้ไหวด้วย
ความไหวมิใช่กาล คราวแสดงกาลามสูตร และคราวแสดงโคตมกสูตร
แผ่นดินได้ไหวด้วยความเป็นสักขีว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระ
พุทธเจ้าขอเป็นสักขี แต่คราวแสดงพรหมชาลสูตรนี้ เมือทรงแสดงสะสาง
คลี่คลายทิฏฐิ 62 ประการอยู่ พึงทราบว่า ได้ไหวด้วยอำนาจถวาย
สาธุการ.
อนึ่ง มิใช่แต่ในฐานะเหล่านี้อย่างเดียวเท่านั้น ที่แผ่นดินไหว ที่
จริงแผ่นดินไหวแล้ว แม้ในคราวสังคายนาทั้ง 3 ครั้ง แม้ในวันที่
พระมหินทเถระมาสู่ทวีปนี้ นั่งแสดงธรรมในชาติวัน และเมื่อพระ
บิณฑปาติยเถระ
กวาดลานพระเจดีย์ในกัลยาณีวิหาร แล้วนั่งที่ลานพระ
เจดีย์นั้นแหละ ยึดปีติมีพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ เริ่มสวดพระสูตรนี้
เวลาจบพระสูตร แผ่นดินได้ไหวไปถึงน้ำรองแผ่นดินเป็นที่สุด. มีสถาน
ที่ชื่ออัมพลัฏฐิกะอยู่ด้านทิศตะวันออกของโลหปราสาท พระเถระผู้กล่าว
คัมภีร์ทีฆนิกายนั่งในสถานที่นั้น เริ่มสวดพรหมชาลสูตร แม้ในเวลาที่
พระเถระเหล่านั้นสวดจบ แผ่นดินก็ได้ไหวไปถึงน้ำรองแผ่นดินเป็นที่สุด
เหมือนกัน ดังนี้แล.
ด้วยอานุภาพแห่งพระสูตรอันประเสริฐใด ที่พระ
สยัมภูได้ทรงแสดงแล้ว แผ่นดินได้ไหวหลายครั้ง

อย่างนี้ ขอบัณฑิตทั้งหลายจงศึกษาโดยเคารพ ซึ่ง
อรรถกรรมของพระสูตรนั้น อันมีชื่อว่า พรหม-
ชาลสูตรในพระศาสนานี้ แล้วปฏิบัติโดยอุบายอัน
แยบคาย เทอญ.

วรรณนาพรหมชาลสูตร อันดับที่ 1 ในสุมังคลวิลาสินี อรรถกถา
ทีฆนิกาย
จบแล้วด้วยประการฉะนี้.

2. สามัญญผลสูตร


( 9 ) ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ :-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับ ณ สวนอัมพวันของหมอ
ชีวกโกมารภัจ กรุงราชคฤห์
พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ
1,250 รูป วันนั้นเป็นวันอุโบสถขึ้น 15 ค่ำ เป็นวันครบรอบ
4 เดือนฤดูดอกโกมุทบาน ในราตรีเพ็ญพระจันทร์เต็มดวง พระเจ้า
แผ่นดินมคธพระนามว่า อชาตศัตรู เวเทหิบุตร แวดล้อมด้วยราช-
อำมาตย์ ประทับนั่ง ณ มหาปราสาทชั้นบน ขณะนั้น ท้าวเธอทรง
เปล่งพระอุทานว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ราตรีมีพระจันทร์แจ่มกระจ่าง
น่ารื่นรมย์หนอ ราตรีมีพระจันทร์แจ่มกระจ่าง ช่างงามจริงหนอ ราตรี
มีพระจันทร์แจ่มกระจ่าง น่าชมจริงหนอ ราตรีมีพระจันทร์แจ่มกระจ่าง
น่าเบิกบานจริงหนอ ราตรีมีพระจันทร์แจ่มกระจ่าง เข้าลักษณะจริงหนอ
วันนี้เราควรจะเข้าไปหาสมณะ หรือพราหมณ์ผู้ใดดี ที่จิตของเราผู้เข้า
ไปหาพึงเลื่อมใสได้ ครั้นท้าวเธอมีพระราชดำรัสอย่างนี้แล้ว ราชอำมาตย์
ผู้หนึ่งจึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ ท่านปูรณกัสสป ปรากฏ
ว่าเป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ มีชื่อเสียง มีเกียรติยศ เป็นเจ้าลัทธิ
มหาชนยกย่องว่าดี เป็นคนเก่าแก่ บวชมานาน มีอายุล่วงกาลผ่านวัยมา
โดยลำดับ ขอพระองค์เสด็จเข้าไปหาท่านปูรณกัสสปนั้นเถิด เห็นด้วย
เกล้า ฯ ว่า เมื่อพระองค์เสด็จเข้าไปหาท่านปูรณกัสสป พระหฤทัยพึง
เลื่อมใส เมื่ออำมาตย์ผู้นั้นกราบทูลอย่างนี้แล้ว ท้าวเธอทรงนิ่งอยู่